คำประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว

มูลนิธิจิตรักษ์ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “มูลนิธิ ฯ” หรือ “เรา” ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการ (เรียกรวมกันว่า “ท่าน” หรือ “เจ้าของข้อมูล” ) ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผย (เรียกรวมกันว่า “การประมวลผลข้อมูล”) เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มูลนิธิ ฯ จึงออกประกาศฉบับนี้ขึ้น เพื่อแจ้งข้อมูลให้แก่ผู้รับบริการอันเกี่ยวกับ สิทธิและหน้าที่ ตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ ในการเก็บ รวมรวบ ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

คำนิยาม

“ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายถึง ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ

“ข้อมูลที่มีความอ่อนไหว” หมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ เช่น ข้อมูลจำลองใบหน้า ข้อมูลจำลองม่านตา หรือข้อมูลจำลองลายนิ้วมือ

“มูลนิธิ” หมายความถึง มูลนิธิจิตรักษ์

“ผู้รับบริการ” ได้แก่ ผู้รับบริการรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตของมูลนิธิ ฯ ผู้เข้ารับการอบรมหรือสัมมนาที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิ ฯ ทั้งแบบการสัมมนาในห้องประชุม (Onsite workshop) และการสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ (Online workshop) เป็นต้น

“ผู้ให้บริการ” ได้แก่ ผู้ให้คำปรึกษา (Counselor) นักจิตวิทยา (Psychologist) จิตแพทย์ (Psychiatrist) ของมูลนิธิจิตรักษ์ นักบำบัดในสาขาอื่น ๆ และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้กับมูลนิธิ ฯ เช่น นักบำบัดศิลปะ (Art therapist) นักเล่นบำบัด (Play therapist) ผู้นำกระบวนการ (Facilitator) และผู้ประสานงานผู้รับบริการ (Clinical services coordinator) เป็นต้น

การเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

มูลนิธิ ฯ จะดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่จะถูกเก็บรวบรวมเท่าที่จำเป็นตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานและการบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตของมูลนิธิ ฯ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล ชื่อเล่น อายุ วันเกิด เพศ สัญชาติ สถานภาพสมรส อาชีพของผู้รับบริการ ลายมือชื่อ

2. ข้อมูลสำหรับติดต่อ เช่น ที่อยู่ปัจจุบัน หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล

3. ข้อมูลที่ทำงาน ในกรณีที่จำเป็นต้องติดต่อ เช่น ชื่อที่ทำงาน ชื่อผู้ติดต่อได้จากที่ทำงาน อีเมลและหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้

4. ข้อมูลของคู่สมรส ในกรณีสมรสแล้ว เช่น ชื่อ-นามสกุลของคู่สมรส อีเมลและหมายเลขโทรศัพท์ของคู่สมรส สถานที่ทำงานของคู่สมรสในกรณีไม่ได้ทำงานที่เดียวกัน

5. ข้อมูลของบุตร ในกรณีที่มีบุตรแล้ว เช่น จำนวนบุตร ชื่อและอายุของบุตร

6. ข้อมูลของบุคคลที่ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ชื่อ-นามสกุล ความสัมพันธ์ อีเมลและหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่ติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน

7. ข้อมูลการเข้ารับบริการ เช่น ข้อมูลการนัดหมายผู้ให้คำปรึกษา นักจิตวิทยา จิตแพทย์ และนักบำบัดในสาขาอื่น ๆ ข้อมูลการเข้ารับการอบรมหรือสัมมนา

8. ข้อมูลการเข้าร่วมกิจกรรมการอบรมต่าง ๆ กับมูลนิธิ ฯ เช่น ข้อมูลการลงทะเบียนเพื่อร่วมการอบรม

9. ข้อมูลสถิติ เช่น จำนวนผู้รับบริการ และการเข้าชมเว็บไซต์

10. ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพต่าง ๆ อันได้แก่ การรับคำปรึกษาหรือการบำบัดครั้งที่ผ่านมา ประวัติส่วนตัวเกี่ยวกับสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับการนอนหลับ ประวัติส่วนตัวเกี่ยวกับสุขภาพจิต รายการลักษณะของอาการต่าง ๆ

11. ข้อมูลแบบประเมินการให้บริการ

12. ข้อมูลที่ได้จากระบบอัตโนมัติหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หมายเลข IP Address, Cookie, พฤติกรรมการใช้บริการ, ประวัติการใช้บริการ

โดยมูลนิธิ ฯ จะขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลไว้ก่อนหรือในขณะที่มีการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ยกเว้นในกรณีดังต่อไปนี้

1. เพื่อปฏิบัติตามสัญญา กรณีการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อความจำเป็นต่อการให้บริการหรือปฏิบัติตามสัญญาระหว่างเจ้าของข้อมูลและมูลนิธิ ฯ

2. เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ

3. เพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย

4. เพื่อผลประโยชน์อันชอบโดยกฎหมายของมูลนิธิ ฯ กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์อันชอบธรรมในการดำเนินงานของมูลนิธิ ฯ โดยมูลนิธิ ฯ จะพิจารณาถึงสิทธิของเจ้าของข้อมูลเป็นสำคัญ เช่น เพื่อป้องกันการฉ้อโกง การรักษาความปลอดภัยในระบบเครือข่าย การปกป้องสิทธิเสรีภาพ และประโยชน์ของเจ้าของข้อมูล เป็นต้น

5. เพื่อการศึกษาวิจัยหรือสถิติ กรณีที่มีการจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์หรือจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยหรือสถิติซึ่งได้จัดให้มีมาตรการปกป้องที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของเจ้าของข้อมูล

6. เพื่อปฏิบัติภารกิจของรัฐ กรณีมีความจำเป็นต่อการปฏิบัติตามภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจรัฐที่ มูลนิธิ ฯ ได้รับมอบหมาย

แหล่งที่มาของข้อมูล

1. ข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลโดยตรง ที่ท่านได้ให้ไว้ในการใช้บริการ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรือช่องทางอื่นของมูลนิธิ ฯ เช่น ข้อมูลที่ท่านกรอกในแบบสอบถามบนเว็บไซด์เกี่ยวกับบริการให้คำปรึกษาและการอบรมของมูลนิธิ ฯ (Enquiry form) แบบฟอร์มข้อมูลผู้เข้ารับบริการ (Client information form) การรับบริการให้คำปรึกษาแบบออนไลน์และแบบออฟไลน์ การลงทะเบียนที่เคาน์เตอร์ลงทะเบียน หรือจากความสมัครใจของท่านในการทำแบบสอบถาม (Survey) แบบประเมินการให้บริการ (Feedback) การตอบโต้ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ทางโทรศัพท์ (Telephone) เครื่องมือหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร (Social media) แอพพลิเคชั่นการให้บริการ (Applications) การกรอก/ให้ข้อมูลประกอบการสมัครงาน หรือช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ระหว่างมูลนิธิ ฯ และท่าน

2. ข้อมูลที่เก็บโดยการใช้เทคโนโลยีตรวจจับหรือติดตามพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของมูลนิธิ ฯ ได้แก่ เว็บไซต์คุกกี้ ข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ IP address, Mac address, Cookie ID, Location ข้อมูลการใช้ Application, Device ID, Browsing history

3. ข้อมูลที่เก็บรวบรวมระหว่างงานฝึกอบรม หรือสัมมนา หรือกิจกรรมอื่น ๆ ของมูลนิธิ ฯ ได้แก่ ข้อมูลภาพถ่าย วีดีโอกิจกรรม แบบสอบถาม (Survey) และแบบประเมินการให้บริการ (Feedback) เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล

มูลนิธิ ฯ อาจนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ตามวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้หรือตามวัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่แจ้งขณะเก็บรวบรวมข้อมูลหรือที่ท่านได้ให้ความยินยอมหลังจากมูลนิธิ ฯ ดำเนินการเก็บข้อมูลไปแล้ว

1. ประสานงานและนัดหมายกับผู้ให้คำปรึกษา (Counselor) นักจิตวิทยา (Psychologist) จิตแพทย์ (Psychiatrist) ของมูลนิธิ ฯ ในการรับบริการรับคำปรึกษาด้านจิตวิทยาของท่าน ไม่ว่าแบบในห้องให้คำปรึกษา (Onsite) หรือแบบผ่านระบบออนไลน์ (Online) รวมถึงการประสานเกี่ยวกับการเข้าอบรมกับผู้นำกระบวนการ (Facilitator)

2. ยืนยันตัวตนผู้รับบริการ

3. ส่งข้อความแจ้งเตือนการนัดหมายกับผู้ให้คำปรึกษา (Counselor) นักจิตวิทยา (Psychologist) หรือจิตแพทย์ (Psychiatrist) ของมูลนิธิ ฯ

4. ใช้ในการดำเนินกิจการ ประเมินผล และปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ

5. ดำเนินกิจกรรมใด ๆ ทางบัญชีและการเงิน เช่น รายการสรุปเงินบริจาคสำหรับบริการรับคำปรึกษา ใบเสร็จรับเงินบริจาค และหลักฐานการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด

6. เพื่อประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของมูลนิธิ ฯ เช่น การบันทึกภาพผ่านกล้อง CCTV การรักษาความปลอดภัย

7. ใช้สำหรับการปฏิบัติตามกฎของมูลนิธิ ฯ

8. ใช้สำหรับการรับสมัครงาน การเป็นพนักงาน หรือวัตถุประสงค์อื่นใดที่เกี่ยวข้อง

9. ใช้ในการสอบสวนและปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ หรือหน้าที่ตามกฎหมายของมูลนิธิ ฯ

10. เป็นช่องทางในการสื่อสาร ตอบคำถามหรือตอบสนองต่อคำขอของท่าน เช่น การสอบถามเกี่ยวกับบริการให้คำปรึกษา การอบรม และบริการอื่น ๆ ของมูลนิธิ ฯ การรับเรื่องร้องเรียน ปัญหาการใช้บริการ

11. อำนวยความสะดวกและนำเสนอรายการสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้รับบริการ

12. สำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการ และวิเคราะห์ทางสถิติ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงบริการต่าง ๆ

การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

มูลนิธิ ฯ ใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่มีกลไกและเทคนิคที่เหมาะสมตามมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำกัดการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจากพนักงาน ลูกจ้าง และตัวแทนของมูลนิธิ ฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านถูกนำไปใช้ เปิดเผย ทำลาย หรือเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต

การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

มูลนิธิ ฯ เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานและการให้บริการด้านสุขภาพจิตของมูลนิธิ ฯ โดยข้อมูลของผู้รับบริการจะไม่ถูกเผยแพร่โดยที่ไม่อนุญาต ยกเว้นในกรณีที่กฎหมายหรือกระบวนการทางกฎหมายบังคับให้เปิดเผยข้อมูล หรือเปิดเผยต่อเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำขอที่ชอบด้วยกฎหมาย และในกรณีที่ผู้ให้บริการด้านการให้คำปรึกษามีหน้าที่รายงานเนื่องด้วยจริยธรรมและจรรยาบรรณด้านวิชาชีพ เมื่อได้รับทราบและมีการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยแล้วว่าอาจจะมีเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อท่านเองหรือต่อผู้อื่น

ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถและคนเสมือนไร้ความสามารถ

กรณีที่มูลนิธิ ฯ ทราบว่าเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ มูลนิธิ ฯ จะไม่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลนั้น จนกว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการกระทำการแทนผู้เยาว์ หรือ ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ตามแต่กรณี ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

กรณีที่มูลนิธิ ฯ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล แต่พบภายหลังว่าเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จึงยังไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการกระทำการแทนผู้เยาว์ หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ตามแต่กรณี มูลนิธิ ฯ จะดำเนินการลบทำลายข้อมูลส่วนบุคคลนั้นโดยเร็วหากมูลนิธิ ฯ ไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายประการอื่นนอกเหนือจากความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

การถ่ายโอนหรือส่งต่อข้อมูลไปยังต่างประเทศ

มูลนิธิ ฯ อาจจะส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่ท่าน เช่น เพื่อส่งข้อมูลส่วนบุคคลไปยังระบบคลาวด์ (Cloud) ที่มีแพลตฟอร์มหรือเครื่องแม่ข่าย (Server) อยู่ต่างประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น) เพื่อสนับสนุนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตั้งอยู่นอกประเทศไทย โดยจะทำให้แน่ใจว่าประเทศปลายทางหรือหน่วยงานปลายทางมีมาตรฐานและนโยบายในการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่เพียงพอ

ระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูล

มูลนิธิ ฯ จะเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไว้ในระยะเวลาเท่าที่ข้อมูลนั้นยังมีความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเท่านั้น เมื่อพ้นระยะเวลาและข้อมูลส่วนบุคคลของท่านสิ้นความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว มูลนิธิ ฯ จะทำการลบ ทำลายข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไม่สามารถระบุตัวตนได้ต่อไป ตามรูปแบบและมาตรฐานการลบทำลายข้อมูลส่วนบุคคลที่คณะกรรมการ หรือกฎหมายจะได้ประกาศกำหนดหรือตามมาตรฐานสากล

การเปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นส่วนตัว

มูลนิธิ ฯ อาจแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายความเป็นส่วนตัวโดยจะประกาศบนเว็บไซต์ https://www.th.ccfthailand.org/ พร้อมระบุวันที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุด มูลนิธิ ฯ แนะนำให้ท่านตรวจสอบนโยบายนี้เป็นประจำ โดยการที่ท่านใช้บริการทางเว็บไซต์ของมูลนิธิ ฯ ต่อไปหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นส่วนตัวจะถือว่าท่านยอมรับนโยบายที่เปลี่ยนแปลงนั้นแล้ว

สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

ท่านสามารถขอใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้เงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด และตามที่ระบุไว้ในประกาศฉบับนี้ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบ (Right to be informed) ท่านมีสิทธิในการรับแจ้งให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซี่งท่านสามารถอ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ในประกาศฉบับนี้

2. สิทธิขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล (Right of access) ท่านมีสิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเอง เว้นแต่กรณีที่มูลนิธิ ฯ มีสิทธิปฏิเสธคำขอของท่านตามกฎหมายหรือคำสั่งศาล และกรณีที่การขอเข้าถึงและรับสำเนาของท่านอาจมีผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

3. สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล (Right to data portability) ท่านมีสิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไปยังบุคคล ผู้ให้บริการ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยในการรับการบำบัดด้านสุขภาพจิตของท่าน เช่น ผู้ปกครองตามกฎหมาย จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาของโรงพยาบาล เป็นต้น ในกรณีที่มูลนิธิ ฯ ได้ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นอยู่ในรูปแบบที่สามารถอ่านหรือใช้งานโดยทั่วไปได้ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติและสามารถใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ โดยท่านสามารถกรอกหนังสือยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้า (Authorization of Release or Exchange of Confidential Client Information)

4. สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (Right to object) ท่านมีสิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเองเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่กรณีที่มูลนิธิ ฯ มีเหตุในการปฏิเสธคำขอของท่านโดยชอบด้วยกฎหมาย

5. สิทธิขอให้ลบ หรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ (Right to erasure / right to be forgotten) ท่านมีสิทธิขอให้ลบ หรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลหมดความจำเป็น เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลถอนความยินยอม หรือข้อมูลส่วนบุคคลถูกเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

6. สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล (Right to restrict processing) ท่านมีสิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองไว้เป็นการชั่วคราวได้ ในกรณีเมื่อเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องลบ หรือเมื่อข้อมูลดังกล่าวหมดความจำเป็น

7. สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล (Right to rectification) ท่านมีสิทธิขอให้ดำเนินการแก้ไขให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกต้อง สมบูรณ์ และเป็นปัจจุบัน

หากท่านมีข้อสงสัยหรือมีความประสงค์จะแก้ไข ลบข้อมูล ใช้สิทธิ หรือติดต่อเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับข้อมูลของท่าน กรุณาติดต่อผ่านช่องทางการติดต่อด้านล่าง

ช่องทางการติดต่อ

ชื่อ มูลนิธิจิตรักษ์

ที่อยู่ 285/86 หมู่ 4 ซอย สุรพล 1 ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000

หมายเลขโทรศัพท์ 053-262-136, 053-262-137 และ 081-960-8242

อีเมล์ intakethai@ccfthailand.org (สำหรับผู้รับบริการคนไทย)

และ อีเมล intake@ccfthailand.org (สำหรับผู้รับบริการชาวต่างชาติ)

ประกาศ ณ วันที่

4 มกราคม 2567

ผู้อำนวยการมูลนิธิ